“เรียนรู้อดีต รับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต” เป็น ที่รู้กันดีในประเทศทุนนิยมก้าวหน้า เช่น ฮอลลีวู้ด(อเมริกา), โอชิน(ญี่ปุ่น), แดจังกึม(เกาหลี), สามก๊ก(จีน), กำลังภายใน(ฮ่องกง, ไต้หวัน) แม้กระทั่งนาร้าย-นารายณ์(อินเดีย)
เพราะประเทศเหล่านี้เข้าใจดีว่าความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี วรรณคดีเพลงดนตรีดั้งเดิม มีพลังมหาศาลผลักดันให้เกิดงานสร้างสรรค์, และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในนาม Creative Economy, Creative City, Creative Thailand
ยกเว้นประเทศไทย มีกรณีตัวอย่างในกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อข้าราชการหัวนอกหัวหงอกหัวดำหัวเถิกหัวล้านพวกหนึ่ง “กึ่งดิบกึ่งดี” คิดว่าตัวเองเป็นฝรั่ง แต่หน้าลาว วางตนเป็น“อำมาตย์” ผู้มีอำนาจสั่งการว่างานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ต้องเป็นเรื่องสมัยใหม่เท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับงานประวัติศาสตร์โบราณคดี วรรณคดี เพลงดนตรีไทยและสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์
ผลคืองานศิลปกรรมร่วมสมัยของไทยมักลอกแบบจากแม็กกาซีนทางศิลปะทั้งของฝรั่ง, ญี่ปุ่น, จนถึงเกาเหลาเกาหลี ไม่มีตัวตนของตนที่แท้จริง เพราะไม่รู้จักตัวเอง ศิลปินร่วมสมัยของไทยจำนวนไม่น้อยพากันแสดงออกอย่างผิวเผิน และเป็น“ทัวริสม์” เหมือนกิจกรรมทำเทียมในสยามสมาคม กับศูนย์มานุษยวิทยา แล้วทำกร่างอวดฝรั่งสร้างราคาด้วยรูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาแต่ตกเป็นเหยื่อกิมจิ-แดจังกึมของเกาหลีที่มีกึ๋นมากกว่า เพราะ“เรียนรู้อดีต รับใช้ปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต”ด้วยประวัติศาสตร์สังคมและวรรณคดี เพลงดนตรีดั้งเดิมของตน อาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งพวกหนึ่งอวดอุตริว่า“ไม่คิดว่าวรรณคดีจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเอาวรรณคดีมาใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะอันตรายมาก” ที่สังคมไทยได้อาจารย์มีทัศนะอย่างนี้ นี่อันตรายมากกว่า ไม่อยาก“ย้อน”ว่าถ้าอย่างนี้ที่ประเทศไทยเอาศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงเป็นวรรณคดีเล่มแรกมาเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเรื่อง ประดิษฐ์อักษรไทยก็อันตรายมากๆใช่ไหม? —บอกแล้วว่าไม่อยาก“ย้อน”
แท้ที่จริงแล้วอาจารย์ฝรั่งหัวแดงทั้งหลายในโลกทุนนิยมก้าวหน้า ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า“วรรณคดี คือประวัติศาสตร์สังคม”
ฉะนั้น ยิ่งประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่มีสังคม ประวัติศาสตร์ไทยก็ยิ่งต้องศึกษาจากวรรณคดีไทย เพราะมีชีวิตและสังคมเต็มไปหมด หลังอังกฤษปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ พ.ศ. 2323 และหลังอังกฤษยึดครองอินเดียและลังกา ทำให้สยามมีการค้ามั่งคั่งจนเกิดมีคนชั้นกระฎุมพีมากขึ้น เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น
คนชั้นกระฎุมพีต้องการ“ดนตรีเพื่อฟัง”อย่างยุโรป แต่ดนตรีสยามไม่มีเพื่อฟัง มีแต่เป็นส่วนประกอบพิธีกรรม หรือประกอบการแสดง เช่น โขนละคร เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เลยเริ่มมีดนตรีเพื่อฟัง เห็นได้ชัดจากการบรรเลงเพลงเดี่ยว หรือ Solo รู้จากวรรณคดีไหว้ครูปี่พาทย์ว่า“ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ”หมายความว่าครูดนตรีสยามชื่อมี เป็นเชื้อแขก ชำนาญเดี่ยวปี่เพลงทยอยมีชื่อเสียงร่ำลือทั้งกรุงเทพฯในหมู่คนชั้นนำ
สุนทรภู่เลยให้ตัวละครเอกใน“นิยาย”กลอน พระอภัยมณีเชี่ยวชาญเดี่ยวปี่ ดังเป็นที่รู้กัน ในวรรณคดีเรื่องนี้บอกให้รู้ว่าสังคมสยามครั้งนั้นให้คุณค่าดนตรีอย่างไร?
ประวัติศาสตร์ไทยมีบอกเรื่องการล่าอาณานิคมของยุโรป แต่ไม่มีบอกว่าคนชั้นนำสยามยุคนั้นรู้สึกอย่างไรกับสงครามล่าเมืองขึ้นของ อังกฤษที่กำลังคืบคลานเข้าย่างกุ้ง, สิงคโปร์ ฯลฯ ใกล้สยามเข้ามาทุกที
เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่บอกไว้ทั้งเล่ม เพราะเป็นวรรณคดีต่อต้านการล่าอาณานิคมของอังกฤษเห็นได้จากให้อังกฤษเป็น“โจร” ลักษณะต่อต้านอาณานิคม ดูได้จากสุนทรภู่กำหนดให้พระอภัยมณีแก้ปัญหาด้วยปัญญา คือดนตรีเป่าปี่ ไม่ใช้ความรุนแรง โดยเน้นเจรจาสันติวิธีกับนางละเวงวัณฬา ด้วยคำขวัญว่า
Make love and peace, not war.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น